วัตถุประสงค์การติด ไฟฉุกเฉิน
ไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน หรือ ไฟฉุกเฉิน ส่องสว่างเพื่อการหนีภัย มีหลายแบบ การใช้งานก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ หรือ ความชอบในการใช้
เพราะไฟฉุกเฉินมีวัตถุประสงค์ในการติดก็เพื่อให้เห็นชัด การเลือกซื้อ เลือกใช้ ก็ควรจะเลือกซื้อสินค้าที่มีการรับรองมาตรฐาน มอก. วสท. และรับประกันสินค้าจากผู้ขายด้วย
ส่วนการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน นั้น จำแนกได้ ดังนี้
โคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินต้องติดตั้งในบริเวณเส้นทางหนีภัย ในตำแหน่งที่มองเห็นไฟฉุกเฉินได้ชัดเจนจากด้านล่าง
และสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 2 เมตร โดยวัดจากพื้นถึงด้านล่างของไฟฉุกเฉิน กรณีที่ต้องติดตั้งต่ำกว่า 2 เมตร จะต้องไม่กีดขวางเส้นทางหนีภัย
บริเวณที่จะต้องติดตั้งไฟฉุกเฉิน มีดังนี้
1. เส้นทางหนีภัยและบริเวณทางออก
2. บริเวณภายนอกหลังออกจากอาคารแล้ว ต้องมีความส่องสว่างอย่างต่ำอยู่ในระดับเดียวกันกับแสงสว่างก่อนออกจากอาคาร
3. ทางแยก ให้ติดไฟฉุกเฉินห่างจากทางแยกไม่เกิน 2 เมตร ในแนวระดับ
4. ทางเลี้ยว ให้ติดไฟฉุกเฉินห่างจากทางเลี้ยวไม่เกิน 2 เมตร ในแนวระดับจากจุดเปลี่ยนทิศทาง หรือทางเลี้ยว
5. พื้นเปลี่ยนระดับ ให้ติดตั้งไฟฉุกเฉินห่างไม่เกิน 2 เมตร ในแนวระดับจากพื้นเปลี่ยนระดับ
6. บันได ในกรณีที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทางหนีภัย ให้ติดไฟฉุกเฉินในแสงส่องสว่างถึงขั้นบันไดทุกขั้นโดยตรง
7. พื้นที่ปฏิบัติงานของนักดับเพลิง พนักงานกู้ภัยในลิฟต์ดับเพลิง พื้นที่จุดแจ้งเหตุเพลิงไหม้ จุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง พื้นที่เตรียมการหนีภัยและพื้นที่เก็บอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
8. บริเวณพื้นที่งานอันตราย รวมถึงห้องเครื่องไฟฟ้าเครื่องกล ห้องควบคุม ห้องต้นกำลัง ห้องสวิตซ์ และบริเวณใกล้กับอุปกรณ์ควบคุมการจ่ายไฟแสงสว่างปกติและไฟฉุกเฉิน
9. ห้องน้ำ ให้ติดตั้งในห้องน้ำทั่วไปที่มีพื้นที่มากกว่า 8 ตารางเมตร และห้องน้ำสำหรับคนพิการ
10. บันไดเลื่อนและทางเลื่อน ในกรณีที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทางหนีภัย
11. พื้นที่เปิดโล่งภายในอาคาร พื้นที่สำนักงาน ร้านค้า ห้องประชุม หรือห้องที่มีคนอาศัยที่มีขนาดมากกว่า 60 ตารางเมตร
12. บริเวณภายนอกประตูดาดฟ้าและบริเวณพื้นที่รอการหนีภัยทางอากาศ
13. บริเวณพื้นที่หรือห้องพักเพื่อรอการหนีภัยภายในอาคาร
ส่วนการติดตั้งก็ต้องระวังแสงแยงตาขณะอพยพเข้าสู่บันไดหนีไฟโดยต้องก้มโคมไฟให้มาก